แนวโน้มของหลักสูตร


            แนวโน้มของหลักสูตร
            ออนสไตน์ (Ornstein, Allan C. 1994 : 4-20) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับแนวโน้มของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตรในอนาคต เนื้อหาวิชาจะถูกลดความสำคัญลงโดยเฉพาะเนื้อหาวิชาที่แยกแบบโดดเดี่ยว แต่จะมีลักษณะประสมประสานมากขึ้นและมีลักษณะเป็นองค์รวม ถึงแม้ว่าขอบข่ายเนื้อหาวิชาในหลักสูตรแบบดั้งเดิมจะยังคงอยู่ แต่จะมีลักษณะการบูรณาการข้ากลุ่มสาระการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ความรู้ไม่สามารถพิจารณาในแง่มุมของรายละเอียดปลีกย่อยหรือความต่อเนื่อง แต่จะมีความเป็นสหวิทยาการและหลากหลายมิติยิ่งขึ้น ความรู้จะบูรณาการกัน ความรู้มีมากกว่าแหล่งความรู้ภาพและเสียงเท่านั้น และมีความน่าเชื่อถือน้อยจากสื่อที่เป็นการพูดและการสื่อสารด้วยตัวอักษร ออนสไตน์ได้สรุปไว้ว่าแนวโน้มของหลักสูตรมีดังต่อไปนี้
            1. การศึกษาในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ (Electronic Education) ความเจริญก้าวหน้าของ          วีดิทัศน์สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนได้ วีดิโอเทป คาสเสท และดิสค์สามารถนำมาใช้สอนได้ทั้งในห้องเรียน ห้องสมุด ศูนย์เรียนรู้ และที่บ้านของนักเรียน วีดิทัศน์มีความสะดวกที่นำมาเรียนได้ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยไม่ให้พลาดบทเรียนไปได้  มีวีดิทัศน์บทเรียนวิชาต่างมีจำนวนมากนับเป็นจำนวนพัน นอกจากนี้โรงเรียนหลายแห่งและครูจำนวนมากที่สามารถผลิตสื่อการสอนวิชาที่ตนเองรับผิดชอบในรูปของวีดิทัศน์ จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สามารถที่จะพิมพ์วีดิทัศน์ หรือภาพจากจอภาพในรูปของ ภาพถ่าย ตาราง กราฟ หรือรูปภาพในแบบต่าง ๆ ลงในกระดาษสำหรับศึกษาต่อไปได้
            วีดิทัศน์ยังสามารถนำใช้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้สามารถเรียนได้ในลักษณะแบบจำลองเหตุการณ์ที่เป็นจริง มีการโต้ตอบกัน สามารถนำเสนอได้เช่นเดียวกันกับการสอนให้ชั้นเรียน บทเรียนคอมพิวเตอร์สามารถให้คำตอบถูกหรือผิดให้กับผู้เรียนได้ทันที หรือในกรณีที่ผู้เรียนเลือกคำตอบ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถให้ผู้เรียนเห็นคำตอบและสามารถเลือกทางเลือกที่กำหนดให้ปฏิบัติได้ตามที่โปรแกรมกำหนดไว้ นอกจากนี้วีดิทัศน์ยังสามารถใช้เป็นบทเรียนเรียนแบบรายบุคคลหรือแบบกลุ่มย่อยก็ได้
            ความรู้ในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์นี้ยังสามารถจัดเก็บไว้ในสถานที่ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านระบบเครือข่าย ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศและสามารถใช้ประโยชน์ได้
            2. การรู้เทคโนโลยี (Technical Literycy) โรงเรียนในปัจจุบันเห็นความสำคัญในวิวัฒนาการของเทคโนโลยี จึงได้ให้การศึกษากับบุคลากรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อีเล็กทรอนิกส์ เลเซอร์ และหุ่นยนต์ การรู้คอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) เป็นทักษะพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากทักษะการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น หรือรู้จักกันว่า 3Rs
            ในวิถีทางเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผู้ปฏิบัติงานต้องมีการศึกษาที่ดี ต้องมีปัญญาที่ดีกว่า มีทักษะการสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม บ้านและที่ทำงานจะมีเครื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เครื่องแฟกซ์ และเครื่องมืออีเล็กทรอนิกส์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะนำสู่จุดวิกฤติของคนที่ไม่สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆนี้ให้ทำงานได้ จึงมีความจำเป็นที่ภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล จะได้ร่วมกันสร้างโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรในการเตรียมคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ในอนาคตการศึกษาจะเป็นการสร้างนักวิทยาศาสตร์เพื่อที่จะสามารถออกแบบ พัฒนา และประยุกต์เทคโนโลยีได้ในอนาคต
            สมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (The National Science Teachers Association : NSTA) ได้อนุมัติหลักสูตรเรียกว่าScience/Technology/Society ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเพียงวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่ให้ความสำคัญกับสังคมและเทคโนโลยี ตัวอย่างหนึ่งของจุดประสงค์โปรแกรมนี้ก็เพื่อช่วยนักศึกษาจัดการกับผลกระทบของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
            ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มแผนพัฒนาแห่งชาติแบบมีส่วนร่วม ของการศึกษา อุตสาหกรรมและรัฐบาล การประเมินความต้องการอาชีพในอนาคต และแผนความร่วมมือกันของโรงเรียนหรือสถานศึกษา
            3. การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) แนวโน้มของการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นความจำเป็นกับสังคมสมัยใหม่อันเป็นผลสืบเนื่องจากความรู้ที่มีมากมาย การเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่มีผลต่อประชาชนในการประกอบอาชีพที่ปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาใหม่ที่มีผลต่อเป้าหมายของบุคคลและสังคม การศึกษาจะมีความต่อเนื่องตลอดชีวิตไม่ใช่เป็นเพียงการศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น การศึกษาผู้ใหญ่จึงถูกคาดหวังเพิ่มขึ้นในปีคริสต์ศตวรรษที่ 1990s
            4. การศึกษานานาชาติ (International Education) สังคมอเมริกันถือได้ว่าความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาได้มาจากประเทศต่างๆ และได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “หมู่บ้านโลก(global village) กล่าวถึงมาตรฐานของการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของชาติ(อเมริกัน)มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ ของโลก
            การสื่อสารผ่านดาวเทียมและบรรยากาศ รายการโทรทัศน์ เครือข่ายซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีเลเซอร์ และการเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ต ช่วยให้ดูเหมือนว่าโลกแคบลง ความจำเป็นในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศมีมากยิ่งขึ้น ภาษาพูดที่รู้จักกันส่วนใหญ่คือ ภาษาจีนกลาง รองลงมาคือภาษาอังกฤษ ฮินดี และสเปน ภาษาญี่ปุ่น(อันดับที่ 10) และภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส การฝึกอบรมนักศึกษาในสหรัฐอเมริกาให้เรียนรู้ภาษาต่าง ๆมีผลต่อความเจริญเติบโตทางด้านการค้าของสหรัฐอเมริกาและความเข้าใจในตลาดการค้าโลก
            5. สิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) ผลจากปัญหาต่างๆ อาทิ มลภาวะ น้ำเสีย ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาวะทุพโภชนาการ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ปัญหาต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่ความต้องการความรู้และโปรแกรมใหม่ในสาขาวิชานิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมศึกษา ถึงแม้ว่าเดิมทีมีวิชาที่เกี่ยวข้องคือ ธรณีวิทยา ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ แต่ความต้องการความรู้ที่มีความหมายและมีความสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาชีวิตและความเป็นอยู่ของมวลมนุษย์ในยามคับขันหรือช่วงเวลาเร่งด่วน
            โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาควรได้ทำหน้าที่เตรียมผู้เรียนสู่โลกอนาคต โดยช่วยให้เข้าใจในปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ สังคมและการเมืองว่าเป็นอย่างไร ด้วยเหตุที่ว่าความรู้ที่มีอยู่ไม่มั่นใจว่าใช้ได้อย่างเหมาะสม หลักสูตรต้องให้เกิดเจตคติ คุณค่า และความคิดเชิงจริยธรรม ที่ช่วยให้มีพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาต้องการการมองโลกยุคใหม่แบบบูรณาการ รู้ว่าอย่างไรที่เป็นการทำลาย รู้ว่าวิทยาศาสตร์ สังคม และการเมือง จะนำมาบูรณาการกันอย่างไรที่จะช่วยให้ลดปัญหาหรือนำไปสู่แนวทางการแก้ไข สิ่งต่างๆ โรงเรียนในอนาคตจะต้องนำแนวคิดดังกล่าวข้างต้นนี้มาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
            6. การศึกษาเกี่ยวกับนิวเคลียร์ (Nuclear Education) ประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต รัสเซียถือว่าเป็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านนิวเคลียร์ นอกจากนั้นประเทศจีน เกาหลีเหนือ เยอรมันนี และฝรั่งเศส นับได้ว่ามีการขายความรู้ด้านนิวเคลียร์ให้กับประเทศโลกที่สาม

            การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ ได้แก่ โรงไฟฟ้า การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การบำบัดด้วยการฉายรังสี ความรู้เรื่องหลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นว่าพลังงานดังกล่าวนี้มีผลกระทบต่ออากาศ อาหาร และน้ำอย่างไร กรณีที่มีการรั่วไหลจะมีผลกระทบในขอบเขตห่างไกลเพียงใด และความเข้มข้นของรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ทั้งที่อยู่ใกล้และไกลออกไปนับพันไมล์ ดังนั้นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเกี่ยวกับนิวเคลียร์ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรโลกศึกษา(Globally Oriented Curriculum)
            7. สุขศึกษาและการดูแลสุขภาพกาย (Health Education and Physical Fitness) แนวโน้มเกี่ยวกับสุขภาพของประชากรชาวอเมริกันจะต้องได้รับความรู้จากหลักสูตรใหม่ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือนักการศึกษานำประเด็นเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่องที่รู้กันในชื่อว่า AIDS (acquired immunodeficiency syndrome) นำมาให้ความรู้กับผู้เรียน บรรจุเป็นเรื่องหนึ่งในหลักสูตร
            ถึงแม้ว่าในสังคมอมริกันประชากรวัยผู้ใหญ่มีนิสัยรักการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพด้วยการเล่นกีฬาและการดูแลสุขภาพร่างกาย(Fitness) จุดประสงค์เบื้องต้นของโปรแกรมมุ่งให้มีความสนุกสนานและด้านการสังคมในกิจกรรมกีฬา ไม่ได้มุ่งการแข่งขันเพื่อชัยชนะ มุ่งเพียงให้เป็นพฤติกรรมการออกกำลังกายเป็นสำคัญ
            8.การศึกษาต่างด้าว (Immigrant Education) สังคมอเมริกันหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีชาวต่างด้าวเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นัยสำคัญของคนต่างด้าวจำนวนมากมาจากครอบครัวที่เรียกว่า “ยากจน(structurally poor)”  เด็กที่มาจากประเทศต่าง ๆ จะถูกตีตราว่า “ด้อยความสามารถในการเรียนรู้(learning disabled or slow” เพื่อช่วยให้คนต่างด้าวที่เข้ามาใหม่นักการศึกษาให้คำแนะนำว่าโรงเรียนควรได้จัดหลักสูตรสองภาษา(Bilingual programs) หลักสูตรพหุวัฒนธรรมจะช่วยให้เด็กต่างด้าวได้เรียนรู้และอยู่ในสังคมใหม่ได้ดียิ่งขึ้น
            9. ภูมิศาสตร์ย้อนกลับ (The Return of Geography) การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นผลมาจากการตีพิมพ์หนังสือชื่อ Nation at Risk ในปี ค.ศ.1983 เด็กอเมริกันจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวโลกรอบตัวเรา รวมถึงภูมิศาสตร์พื้นฐาน มีการทบทวนสาระสำคัญทางภูมิศาสตร์ อาทิเรื่อง back to basic, การเรียนรู้วัฒนธรรม นิเวศวิทยาศึกษา และโลกศึกษา  เรื่องราวต่างๆ ที่ศึกษาเล่าเรียนจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้รู้จักบทบาทของตนเองเพิ่มยิ่งขึ้น
            10. การศึกษาในช่วงเกรดกลาง (Middle-Grade Education) ผู้เรียนที่อายุระหว่าง 10 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงความเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างรวดเร็ว การศึกษาที่จัดให้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ ก่อนจะเป็นวัยรุ่น(Preadolescents) และวัยรุ่นตอนต้น(early adolescents) เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนมัธยม(secondary school) โรงเรียนเกรดกลางมุ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สังคมหรือสังคมประกิต(Socialization) ไม่เน้นวิชาการ แต่ให้ความสำคัญกับ intramural sport แต่ก็ไม่เน้นinterscholastic or competitive sports ถึงแม้ว่าโรงเรียนเกรดกลางจะมีอยู่โดยทั่วไป แต่หลักสูตรใหม่ที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็กดังกล่าวนี้จำเป็นต้องพัฒนาขึ้น การพัฒนาครูผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยน โปรแกรมการพัฒนาครูจะต้องมีความแตกต่างจากครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในอนาคตสถาบันการผลิตครูจะต้องมุ่งพัฒนาความรู้ ทักษะที่จำเป็นสำหรับการสอนโรงเรียนเกรดกลาง(Middle school)
            11. การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ (Aging Education) สังคมปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นักการศึกษามีความเชื่อว่าโรงเรียนจะต้องสอนให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาและความคาดหวังของผู้สูงอายุ และช่วยให้มีความรักต่อผู้สูงอายุ(ทั้งพ่อแม่และปู่ย่าตายาย)
            ในโรงเรียนจะต้องประสมประสานผู้สูงอายุทั้งผู้ที่มีความประสงค์จะเกษียณอายุและผู้เกษียณอายุจากงานประจำมาช่วยงานในโรงเรียนในรูปแบบ อาสาสมัคร ผู้ช่วยสอน และแหล่งทรัพยากรบุคคลในการเรียนรู้
            12. ธุรกิจการศึกษา (For-Profit Education)  โรงเรียนหรือสถานศึกษารูปแบบต่าง ๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในรูปแบบของเอกชนและหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจ อาทิ สถานเลี้ยงเด็กเล็ก(nursery) ศูนย์รับเลี้ยงเด็กช่วงเวลากลางวันและช่วงหลังเลิกเรียน ศูนย์กีฬาและโคชเอกชน ศูนย์ติวเตอร์แฟรนไชส์ วิทยาลัยเอกชนเพื่อให้บริการแนะแนว(ในการเลือกมหาวิทยาลัย) สถาบันติวเตอร์สอบ SAT และการทดสอบเพื่อขอรับในรับรองประกอบวิชาชีพ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการนำการศึกษาเข้าสู่ตลาดการค้าที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการศึกษา จากผู้เรียนโดยตรง
            13. การศึกษาเพื่ออนาคต (Futuristic Education) จากงานเขียนของทอฟเลอร์(Toffler 1970) ที่กล่าวถึงอนาคตว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่สามารถที่กำหนดขอบข่ายของการเปลี่ยนแปลงได้เลยนั้น จึงนำมาเป็นหลักการของความมุ่งหมายการศึกษา ที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนเพื่อที่ผู้เรียนแต่ละคนสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่อง
            แนวทางหนึ่งในการเตรียมตัวผู้เรียนในอนาคตก็คือช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โปรแกรมหรือรายวิชาใหม่ จะถูกเรียกว่า การศึกษาเล่าเรียนเพื่ออนาคต(Futuristic studies) จะเริ่มในระดับอุดมศึกษา และมัธยมศึกษาในโอกาสต่อไป สาระสำคัญของการศึกษาดังกล่าวนี้พิจารณาจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสถานการณ์ในสังคมโดยไม่มีการแบ่งแยก แต่เป็นทั้งสององค์ประกอบที่ช่วยในการตัดใจในอนาคต  โดยทั่วไปการมองอนาคตไม่ใช่ภารกิจที่เล็กๆ แต่เป็นการนำเสนออนาคตที่มีจุดประสงค์การเรียนรู้โดยปกติทั่วไปที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และนำไปใช้โดยปรับให้เหมาะสมกับตนเองในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
            นักการศึกษาได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในอนาคตที่เรียกกันว่า ทักษะในศตวรรษที่ 21 หลักสูตรหรือรายวิชาที่เรียนก็ควรที่จะได้พิจารณาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามมาตรฐานดังกล่าวนี้ หลักสูตรต้องวางแผนเพื่อการบรรลุทักษะในศตวรรษที่ 21

            ในปี 1983 สมาคมการพัฒนาหลักสูตรและการนิเทศ (Association for Supervision and curriculum development :ASCD) ได้เผยแพร่บทความวิจัย ของ Benjamin I. Troutman and Robert D. Palombo เรื่อง Identifying Futures Trends in Curriculum Planning โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 36 คน จากโรงเรียน Virginia Beach Public Schools ข้อมูลที่ได้สรุปได้ว่า ในอนาคตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นตัวชี้การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร อันเป็นผลจาก การขยายความรู้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และความรู้มีความเป็นศาสตร์เฉพาะการเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการศึกษาผลต่อหลักสูตรใน 3 ประเด็น คือ1) ความเป็นความรู้ที่ร่วมกันของวิทยาการที่เจริญก้าวหน้า 2) ความสมดุลระหว่างความยากลำบากในการได้มาของข้อเท็จจริงกับการพัฒนาทักษะกระบวนการ 3) เอกสารความรู้ที่ใช้เป็นแหล่งความรู้ในหลักสูตร จากขอบข่ายดังกล่าวนี้กลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียน Virginia Beach Public Schools ให้ความเห็นว่าแนวโน้มในอนาคตที่มีผลต่อการวางแผนหลักสูตรมี 15 ประเด็น คือ
1. ทักษะพื้นฐานทางวิชาการ (Basic Academic Skills)จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับ ทักษะการสื่อสาร คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะหลักสูตรอาชีวศึกษา
2. คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ (Computers and Other Information Technologies) คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ มีรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วอุปมาดั่งเช่นเป็นพาหนะขับเคลื่อนการศึกษาสำหรับผู้เรียนทุกคน การพัฒนาแผนสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในระบบโรงเรียน Virginia Beach Public Schools ตั้งแต่อนุบาลถึงเกรดสิบสอง
3. ความยืดหยุ่นของหลักสูตร (Curriculum Flexibility) ให้โอกาสอันยิ่งใหญ่ที่มั่งคั่งสมบูรณ์และรวดเร็วจากหลักสูตร สำหรับอนุบาลถึงเกรดสิบสอง
4. การทบทวนหลักสูตร (Curriculum Revision) พัฒนาแผนปฏิบัติการที่แน่ใจว่าสามารถดำเนินการต่อไปได้ หลักสูตรได้รับการทบทวนและมีการประเมินอย่างเป็นระบบ
5. ความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Ideals) ทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
6. โปรแกรมสำหรับเด็กเล็ก (Early Childhood Programs) ขยายโปรแกรมสำหรับเด็กเล็ก (เด็กก่อนอนุบาล) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้
7. การมองอนาคต (Futures Perspective) การรวมขอบเขตสาระเป็นหลักสูตรเดียว โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นประเด็นสะท้อนและอธิบายประเด็นร่วมสมัย แนวโน้มอนาคต และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบันกับเหตุการณ์ที่ผ่านไปและทางเลือกในอนาคต
8. สัมพันธภาพระดับสากล (Global Interrelationships) ให้ความสำคัญกับมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม-ชาติพันธุ์ของมนุษย์ที่หลักสูตรต้องมีความหลากหลาย
9.          การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ขยายโอกาสสำหรับสมาชิกของชุมชนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนที่สนใจเรียนรู้ในรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
10. สื่อมวลชน(Mass Media) ให้ความสำคัญกับทักษะในการวิเคราะห์วิจารณ์ การฟัง และการดู ที่เกี่ยวข้องกับการแปลความหมายจากสื่อ
11. การเติมเต็มบุคลิกภาพ (Personal Fulfillment) โรงเรียนเป็นสถานที่อันยิ่งใหญ่ที่จะสร้างความคิดต่อตนเองเชิงบวก และพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
12. การประยุกต์กระบวนการ (Process Approach) หลักสูตรมุ่งที่การแก้ปัญหา การตัดสินใจ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะการนำไปใช้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า
13. การพัฒนาทีมงาน (Staff Development) เพิ่มโอกาสให้พัฒนาทีมงาน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี
14. ใช้ชุมชน (Use of Community) เพิ่มบทบาทของผู้ปกครองและแหล่งเรียนรู้ในชุมชนในการจัดโปรแกรมการศึกษา เชื่อมโยงการเรียนรู้ในชั้นเรียนกับประสบการณ์ในชุมชน
15. การอาชีวและอาชีพศึกษา (Vocational and Career Education) แน่ใจว่าการศึกษาอาชีวและอาชีพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ในการทำงานและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น