หลักสูตรกว้าง


หลักสูตรกว้าง       
              หลักสูตรกว้าง (The Broad-Field  Curriculum) เป็นหลักสูตรอีกแบบหนึ่งที่พยายามแก้ไขจุดอ่อนของหลักสูตรรายวิชา โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนให้เป็นที่น่าสนใจและเร้าใจ ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและสามารถปรับตนให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งให้มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทุกด้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพยายามจะหนีจากหลักสูตรที่ยึดวิชาเป็นพื้นฐาน มีครูหรือผู้สอนเป็นผู้สั่งการแต่เพียงผู้เดียว วิชาต่างๆ ที่แยกจากกันเป็นเอกเทศ จนทำให้ผู้เรียนมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชาเหล่านั้น ผลก็คือนักเรียนไม่สามารถนำเอาความรู้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
1. วิวัฒนาการของหลักสูตร
          หลักสูตรกว้างเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ  จากวิชาที่โทมัส  ฮุกซเลย์  (Thomas Huxicy) สอนเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนในราชสำนัก (The Royal Insutunon) ที่นครลอนดอน วิชาที่สอนนี้กล่าวถึงแผ่นดินแถบลุ่มแม่น้ำเทมส์และกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นแผ่นดินนั้น เป็นการนำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ หลายวิชามาศึกษาในเวลาเดียวกัน
สหรัฐอเมริกาเริ่มนำเอาหลักสูตรนี้มาใช้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1914  โดยวิทยาลัยแอมเฮิรส (Amherst Collge)  จัดทำเป็นวิชากว้างๆ เรียกว่า สถาบันสังคมและเศรษฐกิจ (Social and Economic Institions) ต่อมาในปี ค.ศ. 1923  มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ก็ได้จัดหลักสูตรกว้าง มีการสอนวิชาที่รวมวิชาหลายๆ วิชาเข้าด้วยกัน  ได้แก่  วิชาการคิดแบบแก้ปัญหาขั้นนำ (Introduction to Reflective  Thinking) ธรรมชาติของโลกและมนุษย์ (The Nature of the World  and  of  Man) มนุษย์ในสังคม (Man in Society) และความหมายและค่านิยมของศิลปะ (The Meaning and Value of the Arts) ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นโรงเรียนมัธยมของสหรัฐอเมริกาเริ่มนำเอาหลักสูตรแบบกว้างมาใช้  ทำให้เกิดหมวดวิชาต่างๆ ขึ้น เช่น  สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ทั่วไป พลศึกษา ศิลปะ คณิตศาสตร์ทั่วไปและภาษาในตอนแรกๆ การจัดเนื้อหาใช้วิธีจัดเรียงกันเฉยๆ ไม่มีการผสมผสานกันแต่อย่างใด ทำให้การเรียนการสอนไม่บรรลุจุดประสงค์ เพราะแต่ละเนื้อหาวิชาต่างก็มีจุดประสงค์ของตน ต่อมาภายหลังจึงได้มีการแก้ไขโดยกำหนดหัวข้อขึ้นก่อน แล้วจึงคัดเลือกเนื้อหาที่สามารถสนองจุดประสงค์จากวิชาต่างๆ นำมาเรียงกันอีกต่อหนึ่ง วิธีนี้ทำให้การเรียนการสอนบรรลุจุดประสงค์ได้ ขณะเดียวกันก็มีผลพวงตามมา คือ เอกลักษณ์ของแต่ละวิชาหมดไปเนื้อหาวิชาผสมผสานกันมากขึ้น ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่หลักสูตรใหม่ที่เราเรียกกันว่า หลักสูตรบูรณาการ (The Integrated Cumculum)
ประเทศไทยได้นำหลักสูตรมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2503 โดยเรียงลำดับเนื้อหาต่างๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันเข้าไว้ในหลักสูตร และให้ชื่อวิชาเสียใหม่ให้มีความหมายกว้างครอบคลุมวิชาที่นำมาเรียงลำดับไว้ ตัวอย่างเช่นในหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2503 ได้มีการนำเอาเนื้อหาบางส่วนของวิชาศีลธรรม หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ มาเรียงลำดับเข้าเป็นหมวดวิชา เรียกว่า สังคมศึกษา เป็นต้น
2. ลักษณะสำคัญของหลักสูตร
1. จุดหมายของหลักสูตรมีขอบข่ายกว้างขวางกว่าหลักสูตรรายวิชา ขอบข่ายอาจครอบคลุมไปถึงสังคมด้วย จะเห็นได้จากการที่จุดหมายของหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2503 ครอบคลุมการฝึกอบรมเพื่อนำไปสู่คุณลักษณะที่เกี่ยวกับการตระหนักในตน มนุษย์สัมพันธ์ความสามารถในการครองชีพ และความรับผิดชอบตามหน้าที่พลเมือง
2. จุดประสงค์ของแต่ละหมวดวิชา เป็นจุดประสงค์ร่วมกันของวิชาต่างๆ ที่นำมารวมกันไว้ ตัวอย่าง เช่น ในหมวดของสังคมศึกษาของประถมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2503 ซึ่งประกอบด้วยวิชาศีลธรรม หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ได้กำหนดจุดประสงค์ของหมวดวิชาครอบคลุมวิชาทั้งสี่นี้เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขอนำเอาจุดประสงค์ทั้งหมด (ซึ่งในหลักสูตรเรียกว่าความมุ่งหมาย) มาเสนอไว้ในที่นี้ด้วย (กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2503 หน้าที่ 1)
1) ให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม
2) ให้เด็กมีความรู้และความรู้สึกซาบซึ้งในความเป็นมาในการเมืองของสังคม และทางวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละชาติได้สร้างสมกันมาตามประวัติศาสตร์
3) ให้เด็กยอมรับคุณค่าในทางศีลธรรมและวัฒนธรรม และยินดีปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ
4) ให้เด็กมีความเข้าใจว่า สมาชิกของสังคมย่อมมีหน้าที่อำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมตามวิถีทางของเขา สอนให้เด็กได้รู้จักเคารพสิทธิและความคิดเห็นของผู้อื่น โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ และฐานะทางสังคมของบุคคลนั้น
5) ให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลกับระบอบการปกครองในปัจจุบัน
6) ให้เด็กรู้จักสิทธิและหน้าที่ ตลอดจนความรับผิดชอบซึ่งพลเมือง แต่ละคนพึงมีต่อสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติ
7) ให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับการผลิต การบริโภค และการสงวนทรัพยากรของสังคม
8) ให้เด็กรู้จักเหตุผล รู้จักประเมินผล ยอมรับหลักการและกระบวนการที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา
3. โครงสร้างหลักสูตรมีลักษณะเป็นการนำเอาเนื้อหาของแต่ละวิชาซึ่งได้เลือกสรรแล้วมาเรียงลำดับกันเข้า โดยไม่มีการผสมผสานกันแต่อย่างใด หรือถ้ามีก็น้อยมาก อย่างไรก็ตามหลักสูตรนี้เมื่อได้รับการดัดแปลงให้เป็นหลักสูตรบูรณาการ วิชาต่างๆ จะผสมผสานกันกันจนหมดความเป็นเอกลักษณ์
ส่วนดีส่วนเสียของหลักสูตร
           ก.ส่วนดี
         1. เป็นหลักสูตรที่ทำให้วิชาต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีความสัมพันธ์กันดีขึ้น
         2. ในการสอนทั้งผู้เรียนและผู้สอนเกิดวามเข้าใจ และมีทัศนะคติเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนกว้างขึ้น
         3. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างกว้างขวาง เป็นการเอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรม ที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
                   ข.ส่วนเสีย
             1. หลักสูตรนี้ถึงแม้ว่าพยายามจะให้เอกลักษณ์ของแต่ละวิชาหมดไป แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เนื้อหาของวิชาต่างๆ เหล่านั้นผสมผสานกันจนเป็นเนื้อเดียว ดังนั้นในการผู้สอนจึงมีแนวโน้มที่จะรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาไว้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวิชาขาดหายไป
             2. ลักษณะของหลักสูตรทำให้การเรียนการสอนไม่ส่งเสริมให้เกิดความรู้เนื้อหาอย่างลึกซึ้ง เข้าทำนองรู้รอบมากกว่ารู้สึก
             3. เนื่องจากหลักสูตรครอบคลุมวิชาต่างๆ หลายวิชา ผู้สอนจึงอาจสอนไม่ดีเพราะขาดความรู้บางวิชา นอกจากนี้ในการเตรียมการเรียนการสอนจะต้องใช้เวลามาก เพราะเท่ากับต้องเตรียมสอนหลายวิชา แทนที่จะสอนวิชาเดียวอย่างที่สอนหลักสูตรรายวิชา
              4. การสอนอาจไม่บรรลุจุดประสงค์ เพราะต้องสอนหลายวิชาในขณะเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น